การบริหารเงินทุน

Nanosoft Article : บทความทางธุรกิจ

ปกติแล้วเอสเอ็มอีมักเริ่มต้นด้วยเงินทุนจากเจ้าของกิจการ หลังจากนั้นเมื่อกิจการดำเนินไปได้สักระยะหนึ่ง แหล่งเงินทุนส่วนใหญ่ที่ผู้ประกอบการใช้ในการขยายธุรกิจคือ ผลกำไรจากการดำเนินงานแต่ถ้ากิจการยังไม่สามารถทำกำไรได้มากนักก็อาจต้องใช้วิธีเพิ่มทุนจากสมาชิกที่ร่วมลงทุน หรืออาจต้องพึ่งพิงจากการกู้ยืมญาติพี่น้องในครอบครัวหรือเพื่อนฝูง จนเมื่อธุรกิจค่อย ๆ เติบโตขึ้นกู้จะมีความสามารถในการกู้ยืมจากแหล่งภายนอกคือ สถาบันการเงิน

การกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือธนาคารพาณิชย์ นับเป็นแหล่งเงินทุนที่เอสเอ็มอีคุ้นเคยเป็นอย่างดี เนื่องจากง่ายและใช้ระยะเวลาสั้น ขอเพียงมีหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกันก็สามารถกู้ได้ ประกอบกับธนาคารพาณิชย์มีสาขาจำนวนมากตามพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้ง่ายต่อการติดต่อธุรกิจ ดังนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจเมื่อผู้ประกอบการมีความต้องการเงินทุนก้อนใหม่ หรืออยากขยายกิจการ แหล่งเงินทุนที่มักนึกถึงเป็นลำดับแรก ๆ ก็คือ การกู้ยืมจากธนาคาร โดยทั่วไป ธนาคารพาณิชย์จะให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ประกอบการธุรกิจใน 2 วิธีแรก คือ

การอนุญาตให้เบิกเงินเกินบัญชี ( Overdrafts) หรือที่ทั่วไปเรียกว่า OD หมายถึงธนาคารอนุญาตให้ผู้ประกอบการเบิกเงินไปล่วงหน้าได้เกินกว่าวงเงินกำหนดที่ผู้ประกอบการมีอยู่ในบัญชี โดยมีข้อตกลงกับผู้จัดการ ที่จะจำกัดวงเงินจำนวนสูงสุดไว้ และธนาคารจะคิดดอกเบี้ยจากจำนวนเงินที่ขอเบิกเกินไปเท่านั้น ซึ่งเหมาะกับการใช้เป็นแหล่งเงินทุนในการดำเนินงานเพราะเมื่อใดที่เงินขาด เราก็สามารถเบิกออกมาใช้ได้ทันที และเมื่อเรามีเงิน ก็สามารถจ่ายกับคืนทำให้มีวงเงินเท่าเดิม

การให้กู้ยืมแบบธรรมดา( Loan) ธนาคารจะให้กู้ยืมในวงเงินที่ตกลงกันไว้โดยมีกำหนด ระยะเวลาใช้คืน ผู้ประกอบการจะต้องเสียดอกเบี้ยตามจำนวนเงินกู้ที่ตกลง ไว้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเอาเงินไปใช้กับธุรกิจมากน้อยเพียงใด เงินกู้ประเภทนี้จะเหมาะกับการกู้ในระยะยาว หรือการกู้เพื่อนำเงินมาใช้ในการก่อตั้ง เพราะเราจะได้เงินมาเป็นก้อน และมีการผ่อนคืนในระยะยาว

ปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเปิดสินเชื่อหลากหลายชนิดเพื่อให้บริการสำหรับกิจการเอสเอ็มอี เช่น สินเชื่อเพื่อการลงทุน สินเชื่อเพื่อเงินทุนหมุนเวียน สินเชื่อเพื่อการวิจัยและพัฒนา สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง และโครงการค้ำประกันเงินกู้ รวมทั้งรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการเพื่อแก้ปัญหาขาดสภาพคล่องทางเอสเอ็มอี โดยจัดสินเชื่อเพื่อปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีผ่านสถาบันการเงิน 6 แห่งที่จะให้ธุรกิจกู้ในวงเงิน มากกว่า หนึ่งล้านมากขึ้นไป ประกอบด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทย บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อม(บอย.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสินและบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรม ขนาดย่อม หากเป็นธุรกิจที่ต้องการกู้เงินน้อยกว่า หนึ่งล้านบาท อาจจะสามารถติดต่อกู้รายย่อย ได้ที่ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย หรือหากธุรกิจของท่านเป็นขนาดย่อม ไม่ได้มีหลักทรัพย์อะไรมากมาย อาจจะต้องรอมาตรการ แปลงสินทรัพย์เป็นทุนของรัฐบาล ซึ่งน่าที่จะเรียบร้อยภายในปี 2547 นี้

อย่างไรก็ดี การที่ธุรกิจเอสเอ็มอีพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมอย่างเดียว จะทำให้เกิดข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจหลายประการ อาทิ การขาดแคลนเงินทุน ต้นทุนดอกเบี้ยสูงและมีความไม่แน่นอนผันแปรตามอัตราดอกเบี้ยในตลาดภาระการจ่ายคืนเงินต้นไม่ว่าธุรกิจจะมีผลกำไรหรือไม่ก็ตาม และที่สำคัญคือ ความเสี่ยงทางการเงิน ที่ผันแปรตามความสามารถในการทำกำไรของกิจการ ในขณะที่เงินทุนที่ได้รับจากสถาบันการเงินเป็นเงินทุนระยะสั้น ส่วนการลงทุนของธุรกิจส่วนใหญ่เป็นการลงทุน ในสินทรัพย์ระยะยาว เช่นที่ดิน โรงงาน เครื่องจักร จึงมีความไม่สอดคล้องระหว่างแหล่งที่มาและแหล่งที่ใช้ไปของเงินทุน ก่อให้เกิดปัญหาก่อเอสเอ็มอีอย่างมาก

ความจริงแล้ว นอกเหนือจากการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ยังมีแหล่งเงินทุนอื่นๆ อีกที่เอสเอ็มอีไม่ควรมองข้ามไป ซึ่งแหล่งเงินทุนประเภทนี้ ปลอดทั้งภาระดอกเบี้ยและการจ่ายคืนเงินต้น มีเอสเอ็มอีจำนวนหนี่งที่เลือกใช้แหล่งเงินทุนประเภทนี้และสามารถเติบโตเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มั่นคงในปัจจุบัน


การระดมทุนจากประชาชน : เงินทุนเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
เมื่อดำเนินกิจการมาได้สักระยะหนึ่งจนกระทั่งธุรกิจนั้นมีความพร้อมทั้งในด้านการดำเนินการและการบริหาร วิธีการระดมทุนที่เหมาะสมกับบริษัทที่มีศักยภาพ ในการเติบโตและต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยตรงโดยไม่ผ่านตัวกลาง คือการระดมทุนโดยการเสนอขายหุ้นต่อประชาชน และนำบริษัทของตนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เงินทุนประเภทนี้เป็นเงินทุนส่วนของทุนจึงไม่มีภาระดอกเบี้ยหรือข้อผูกพันในการคืนเงินต้น ตลอดจนบริษัทยังได้รับประโยชน์อื่นที่อยู่ในรูปของตัวเงินอีกนานัปการ