มนุษย์พันธุ์เถาแก่

Nanosoft Article : บทความทางธุรกิจ

คุณอยากรวยไหม ? คำตอบของคนส่วนใหญ่ คือ อยาก “เป็นลูกจ้างเขาไม่มีวันรวย ต้องเป็นเถ้าแก่เอง ถึงจะมีโอกาสรวย” หลายคนเชื่อแบบนี้ และจะออกจากชีวิตลูกจ้างมาเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งบางคนก็เป็นเถ้าแก่ที่ทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จรวยจริง ๆ ตามที่ตั้งใจ ขณะที่อีกหลายๆ คนเอาเงินเก็บตัวเองมาสูญกับชีวิตเถ้าแก่ จนต้องกลับไปเป็นลูกจ้างอีกรอบ กว่าจะค้นพบว่าตัวเองไม่เหมาะจะเป็นเถ้าแก่ก็เสียค่าความรู้ไปเยอะ

แล้วใครจะเหมาะเป็นเถ้าแก่ ? ใครเหมาะจะเป็นลูกจ้างมืออาชีพ ? จากการที่ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าของกิจการ ถึงการประสบความสำเร็จ และความล้มเหลวหลายคน เลยอยากจะขอรวบรวมสิ่งที่เป็นคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับมนุษย์พันธุ์เถ้าแก่ไว้ให้ท่านผู้อ่านลองประเมินตัวเองดูครับ


คุณสมบัติที่จะเป็นเถ้าแก่ที่ดี ต้องมีคุณสมบัติดังนี้

1. นักผจญภัย มีความกล้าเสี่ยงอยู่ในสายเลือดระดับหนึ่ง วิถีเถ้าแก่เป็นการเอาเงินทองและทรัพย์สินของตนเองมาลงทุนครับ ถ้าธุรกิจเจ๊ง มีโอกาสหมดตัว จนถึงขั้นล้มละลายเป็นหนี้สินได้ แต่ถ้าสำเร็จก็มีโอกาสรวยได้ในระยะเวลาไม่กี่ปี ต่างกับชีวิตลูกจ้างที่จากการทำงานไม่ดีหรือบริษัทเจ๊ง ก็แค่ตกงาน ไม่ถึงขั้นหมดตัว แต่ก็ไม่มีโอกาสรวยเข้าใจหลัก “เสี่ยงมากรวยมาก เสี่ยงน้อยรวยน้อย” ไหมครับ เพราะฉะนั้นคุณสมบัติข้อแรกของเถ้าแก่ คือ กล้าเสี่ยง กล้าผจญภัยในโลกธุรกิจ

2. กรรมกร เถ้าแก่รุ่นบุกเบิก ที่เรียกว่า รุ่นเตี่ย ที่สร้างธุรกิจมาจากไม่มีอะไรเลย ต้องเริ่มจากการทำงานหนักครับ ถึงจะประสบความสำเร็จได้ แบบที่เห็นตัวอย่างในรายการ “สู้แล้วรวย” นั้นล่ะครับ ถ้าคุณพร้อมจะทำงานหนักวันละ 12 – 15 ชั่วโมงขึ้นไป แบบไม่มีวันหยุดติดต่อกันเป็นเวลา 1 – 2 ปี โดยไม่ท้อถอย คุณมีคุณสมบัติที่จะเป็นเถ้าแก่ที่ดีได้ นี่ไม่นับเถ้าแก่รุ่นเสี่ยหรือรุ่นตี๋ หรือรุ่นที่สร้างธุรกิจเอาไว้ส่วนตัวนะครับ เพราะเถ้าแก่รุ่นทายาทอาจไม่จำเป็นต้องอาศัยข้อนี้มากเท่าไร

สำหรับที่เป็นลูกจ้างอยู่แล้ว ฝันอยากจะเป็นเถ้าแก่ จะได้หยุดงานได้โดยไม่ต้องขออนุญาติใคร เข้างานสาย ๆ ได้ กลับบ้านก่อนเวลาได้โดยไม่มีใครมาบ่น ขอบอกได้เลยครับ ถ้าคิดอย่างนี้ อย่ามาทำธุรกิจเองเป็นอันขาด เว้นแต่ทางบ้านจะมีธุรกิจที่มั่นคงแล้วให้มาบริหารต่อเพราะคิดอย่างนั้น ถ้าใครจะมาเป็นเถ้าแก่รุ่นบุกเบิก โอกาสหมดตัวสูงมากครับ

3. นักศึกษา เถ้าแก่ที่ดีควรมีวิญญาณของนักศึกษา คือ การเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ อย่าคิดว่าตัวเองรู้แล้ว เก่งแล้ว เจ้าของกิจการจำนวนไม่น้อย พอร่ำรวย ประสบความความสำเร็จ ถึงจุดหนึ่ง มีลูกน้องเพื่อนฝูงยกย่องว่าเก่ง มีความสามารถ ก็ชักเชื่อมั่นในตัวเองสูงคิดว่าตัวเองแน่ไม่ค่อยฟังใครตัดสินจากความคิดของตัวเองเป็นหลักหรือตัดสินใจโดยอาศัย ประสบการณ์ในอดีตของตน โดยลืมคิดไปว่าโลกวันนี้เปลี่ยนจากยุคเมื่อหลายปีที่เถ้าแก่เคยประสบความสำเร็จสุดท้ายก็เจ๊งหรือเสียค่าโง่ไปก็มาก

ผมเคยสอนในหลักสูตร Mini MBA ที่มหาวิทยาลัย มีเจ้าของธุรกิจระดับร้อยล้านพันล้านมาเรียนอยู่ไม่น้อย หลายคนยอมรับกับผมว่า ตอนแรกมาเรียนก็ไม่ได้หวังอะไรมาก อยากมาหาเพื่อนในวงการธุรกิจแต่พอได้รู้ศาสตร์ด้านบริหารธุรกิจใหม่ ๆ แล้วถึงรู้ว่าตัวเองยังต้องหาความรู้อีกมาก

4. นักสืบ เจ้าของกิจการที่ดี ควรออกไปสืบหาข้อมูลของคู่แข่งบ้าง ผมแนะนำให้ท่านลองไปใช้บริการของคู่แข่งหรือสินค้าของคู่แข่งมาแยกดู ออกไปคุยกับพนักงานขายของคู่แข่ง หรือกับลูกค้าทั้งของเราเองและคู่แข่ง จะได้รู้ว่าตลาดใครทำอะไรกันบ้าง แล้วนำมาปรับปรุงกิจการหรือสินค้าของตัวเราเอง ที่การบินไทย มีผู้บริหารมาเล่าให้ผมฟังว่า เขาสนับสนุนให้ผู้บริหารทดลองเดินทางด้วยสายการบินของบริษัทคู่แข่ง เพื่อจะได้ทราบว่าคู่แข่งปรับปรุงบริการอะไรกันไปบ้างเราจะได้นำข้อมูลมาวางแผนรับมือได้ถูก

5. นักจิตวิทยา เป็นเถ้าแก่ก็ต้องมีลูกน้องครับ กิจการ SMEs ส่วนใหญ่ มักจะมีลูกจ้างที่มีพื้นฐานความรู้ไม่มากนัก อย่างพนักงานเสิร์ฟตามร้านอาหาร เด็กปั๊ม คนงาน ยิ่งมีลูกจ้างมาก ปัญหาก็ยิ่งมาก ไม่เฉพาะเรื่องงานนะครับ ปัญหาส่วนตัวลูกน้อง เถ้าแก่ก็ต้องเข้าไปให้คำปรึกษาหรือตามแก้ไขให้ด้วย ไม่ว่าลูกน้องป่วย พ่อตาย เมียคลอด ปัญหาเมียน้อยเมียหลวง จนถึงลูกน้องอกหัก เถ้าแก่ก็ต้องไปช่วยถึงจะซื้อใจลูกน้องให้รัก และอยู่กับเราได้นาน ๆ ทำงานได้ดี ๆ

6. ผู้พิพากษา คือ ต้องมีความยุติธรรมและเฉียบขาดในการตัดสินใจ โดยเฉพาะกับลูกน้อง ซึ่งมักจะทะเลาะกัน ไม่พอใจกัน มาให้แก้ไขให้ตลอด ถ้าเถ้าแก่หูเบา ฟังทางโน่นทีทางนี้ที หรือตัดสินใจไม่เฉียบขาด ก็จะมีปัญหาในองค์กรให้ปวดหัวไม่หยุดหย่อน ยิ่งพบลูกน้องทุจริตก็ใจไม่แข็ง ไม่ดำเนินให้เด็ดขาด ก็จะเป็นตัวอย่างให้ลูกน้องที่เหลือทุจริตบ้าง อย่างนี้องค์กรวุ่นวายครับ

7. คนใช้ เถ้าแก่ที่ดีต้องมีความอดทนสูง รับคำดูถูกเหยียดหยาบได้ โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ๆ เจ้าของธุรกิจกลุ่มอาหารที่เติบโตมาจากธุรกิจเล็ก ๆ เคยเล่าให้ผมฟังว่า ก่อนจะมาทำธุรกิจเอง ท่านเคยเป็นผู้บริหารระดับสูงของเครือเจริญโภคภัณฑ์ จะไปไหนมาไหนก็ต้องมีรถประจำตำแหน่งพร้อมคนขับ เข้าไปติดต่อกับทางห้างสรรพสินค้า ก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี พอท่านออกมาทำธุรกิจเองขับรถกระบะเข้าไปส่งของทางห้างก็ต้องยกมือไหว้ผู้จัดการร้าน หรือฝ่ายจัดซื้อที่เด็กกว่าท่าน บางครั้งต้องเผชิญกับคำพูดที่ไม่สู้ดีนัก ก็ต้องอดทนอดกลั้นจนธุรกิจเติบโตเป็นที่ยอมรับ เถ้าแก่ยุคบุกบิกจำนวนมากก็จะผ่านเหตุการณ์ทำนองนี้มาแล้ว เพราะบริษัทเราเล็ก ๆ ไม่เป็นที่รู้จัก ไม่เหมือนกับการเป็นลูกจ้างบริษัทใหญ่ ๆ ที่บางครั้งคนให้เกียรติมากกว่า

8. สารพัดช่าง เจ้าของกิจการต้องมีความยืดหยุ่นสูงในการแก้ไขปัญหา และทำงานขั้นพื้นฐานเป็นหลาย ๆ อย่าง ผมมีเพื่อนที่เป็นเจ้าของอพาร์ทเมนน์ให้เช่า เขาบอกว่าต้องแก้ปัญหาส้วมเต็ม ท่อตัน หลอดไฟขาด บัลลาทเสีย หลังคารั่ว โทรศัพท์ไม่มีสัญญาณ อย่างน้อยในขั้นพื้นฐาน เพราะกิจการเล็ก ๆ จ้างช่างประจำก็ไม่คุ้ม เรียกช่างจากภายนอก ก็ราคาสูง แล้วก็ช้า อย่างน้อยเถ้าแก่ต้องรู้พื้นฐานช่างในระดับพื้นฐานที่ทำเองได้

เจ้าของร้านอาหารก็บอกผมว่า หลายครั้งแคชเชียร์ขาด เด็กเสิร์ฟลา แม่ครัวป่วย เถ้าแก่ต้องลงมาทำแทนได้ เพราะถ้าต้องปิดร้าน ก็เสียรายได้ เถ้าแก่ทำเองไม่ได้เลย ต้องพึ่งลูกน้องตลอดบางครั้งลูกน้องก็เสื่อมความนับถือ คิดว่าเถ้าแก่เอาแต่สั่งอย่างเดียวไม่เคยลงมาทำbr />
เป็นอย่างไรบ้างครับ คุณสมบัติพื้นฐานของเถ้าแก่ ท่านคิดว่า ท่านมีกี่ข้อล่ะครับ ยิ่งมีเยอะข้อ ยิ่งมีโอกาสจะเป็นเถ้าแก่ที่ดีได้มากกขึ้นเท่านั้น แต่ถ้าไม่มีเลย จะขอแนะนำให้อยู่เป็นลูกจ้างเขาต่อไปดีกว่าครับ

** คัดลอกบางส่วนมาจากหนังสือ " Small but work " โดย รศ.วิทวัส รุ่งเรืองผล ISBN 974-8254-93-3