นักคิด หรือ นักทำ?

Nanosoft Article : บทความทางธุรกิจ

ลองมาดูหนังสือขายดี บนชั้นหนังสือบริหารธุรกิจในทุกวันนี้จะเห็นว่าหนังสือในแนวผู้นำ ก็ยังคงเป็นหนังสือขายดี และมีหนังสือให้เลือกเยอะที่สุดเหมือนเดิม จะต่างไปบ้างก็ตรงที่มีตัวอย่างของผู้นำให้เลือกเยอะแยะ ตั้งแต่ระดับผู้นำชุมชนไปจนถึงผู้นำระดับโลก

เนื้อหาส่วนใหญ่ก็ยังคงเน้นเรื่องคุณสมบัติของผู้นำ ว่าต้องเป็นคนแบบไหน มีบุคลิกอย่างไรถึงนำบริษัทของตัวเองให้รุ่งโรจน์ได้อย่างที่เห็น เพราะนักอ่านทุกวันนี้ก็พยายามหาสูตรสำเร็จให้ตัวเองได้คิดตามกันเป็นปกติ

บทบาทของผู้นำที่ติดตามได้จากแผงหนังสือก็คงหนีไม่พ้น 2 ประเภทหลักๆ นั่นคือผู้นำ “นักคิด” กับผู้นำที่เป็น “นักปฏิบัติ” ที่ดูแล้วเหมือนจะอยู่กันคนละขั้ว เพราะหาได้น้อยคนที่จะเก่งทั้ง 2 ด้านเพราะนักคิดส่วนใหญ่จะทำไม่ค่อยเก่งนัก ส่วนนักทำก็คิดไม่ค่อยเก่งเหมือนกัน

สำหรับนักคิดดูจะมีหน้าที่หลักอยู่ที่การใช้ความคิดเชิงวิเคราะห์เพื่อหาเป้าหมายในอนาคต และต้องประมวลความเป็นไปรอบตัวเพื่อหาโอกาสในวันหน้า ตรงกันข้ามกับนักทำที่เน้นการแก้ปัญหาต่างๆ และการบริหารระบบงานต่างๆ ให้ราบรื่น

หากถามคนส่วนใหญ่ว่าคาดหวังให้ผู้นำของตัวเองมีบทบาทเป็นแบบไหน ส่วนใหญ่แล้วมักจะเลือกผู้นำแบบนักคิดหรือ Thinker มากกว่านักทำหรือ Doer เพราะมีแนวโน้มที่จะสร้างความมั่นคงในระยะยาวให้กับบริษัทมากกว่า

แต่หากลองมาดู ความจริงในทุกวันนี้เราจะเห็นว่าผู้นำส่วนใหญ่แล้วมักจะหมดเวลาทำงานไปกับการบริหารงาน ภายในมากกว่าจะใช้เวลาเพื่อวิเคราะห์ถึงอนาคต เพราะในเวลาปีหนึ่งคิดในเรื่องต่างๆ ได้ไม่มากนัก

CEO ส่วนใหญ่มีเวลาคิดวิเคราะห์คู่แข่งได้อย่างมากแค่ 15-20 วันต่อปี นอกนั้นอาจเป็นการคิดวางเป้าหมายสำหรับอนาคตบริษัทอีกราวๆ 10-15 วัน และอีกราวๆ 10-20 วันสำหรับกลยุทธ์ในการจัดการกับคู่แข่งเท่านั้นเอง

ปีหนึ่งมีแค่ 365 วันนั่นจึงเท่ากับว่าเราใช้เวลาคิดวิเคราะห์และวางแผน หรือทำตัวเป็น Thinker ได้จริงๆ แค่ไม่ถึง 10% เท่านั้นเอง โดยที่เหลือกว่า 90% นั้นล้วนหมดไปกับงานปฏิบัติการของ Doer หรือนักทำเป็นหลัก

ตัวเลขจากการสำรวจทำให้เราได้เห็นด้วยอีกว่าเวลาที่เหล่า CEO ใช้ส่วนใหญ่หมดไปกับงานปฏิบัติการที่มากถึง 90% ของเวลาทั้งหมดนั้น ยังมีอีกราวๆ ครึ่งหนึ่ง หรือ 50% ที่ใช้ไปกับปัญหาเรื่อง “คน” ในทุกระดับขององค์กร

บทบาทของ CEO ที่เราอยากเห็น คือความเป็นนักคิดหรือ Thinker จึงลอยห่างไกลออกไปเรื่อยๆ แต่จะได้เห็นภาพของนักปฏิบัติหรือ Doer แจ่มชัดขึ้น เพราะโครงสร้างของงานในทุกวันนี้บีบบังคับให้เหล่า CEO ต้องเป็นนักปฏิบัติโดยพักเรื่องวิสัยทัศน์เอาไว้ก่อน