ความหมายของ "ต้นทุน"

Nanosoft Article : บทความทางธุรกิจ

ต้นทุน คือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการดำเนินการผลิตสินค้า หรือบริการ หรือถ้าพูดกันแบบภาษาชาวบ้าน ต้นทุนคือ จำนวนเงินที่ได้จ่ายไปในการซื้อ สินค้า ข้าวของ วัตถุดิบ ต่างๆ นานาจิปาถะ เพื่อนำมาผลิตหรือขายสินค้าเพื่อให้ก่อให้เกิดรายได้คือยอดขายอีกที โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบผลิตภัณฑ์ การผลิต การทดสอบ การจัดเก็บ และการขนส่ง โดยเราสามารถจำแนกต้นทุนออกได้หลายชนิดดังนี้

จำแนกตามการตัดสินใจ
ต้นทุนเสียโอกาส (Opportunities cost) เป็นต้นทุนของโอกาสที่สูญเสียไป หรือเป็นผลประโยชน์ที่กิจการควรได้รับแต่ไม่ได้รับเนื่องจากเลือกทางเลือกอื่น ต้นทุนเสียโอกาสจะเกิดขึ้นเมื่อได้ตัดสินใจเลือกที่จะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งจากทางเลือกต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสถานการณ์หนึ่ง ๆ ต้นทุนเสียโอกาสจึงเป็นผลประโยชน์ที่สูญเสียไปจากการละทิ้งทางเลือกอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ทางเลือกที่ดีที่สุด โดยปกติแล้วผลประโยชน์ที่สูญเสียไปเป็นกำไรสุทธิ หรือผลกำไรที่อาจจะได้รับจากการละทิ้งทางเลือกอื่นออกไป ตัวอย่างเช่น กิจการที่ตัดสินใจนำเงินทุนมาลงทุนสร้างอาคาร โรงงาน หรือลงทุนในสินค้าคงเหลือ แทนที่จะเลือกรับดอกเบี้ย หรือรับเงินปันผลจากการนำเงินทุนจำนวนเดียวกันนั้นไปลงทุนในหุ้นกู้หรือหุ้นทุน ซึ่ง การตัดสินใจเลือกใช้เงินทุนเพื่อการลงทุนในครั้งนี้ มีต้นทุนเสียโอกาสเกิดขึ้นเท่ากับดอกเบี้ยรับหรือเงินปันผลที่ได้ละทิ้งไป

ต้นทุนที่หลีกเลี่ยงได้และต้นทุนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
- ต้นทุนที่หลีกเลี่ยงได้ คือ ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่ธุรกิจสามารถประหยัดได้หากธุรกิจยกเลิกการผลิตหรือการดำเนินงานในส่วนงานนั้นๆ
ต้นทุนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่ธุรกิจยังคงต้องจ่ายอยู่แม้ว่าจะยกเลิกการผลิตหรือการดำเนินงานในส่วนงานนั้นๆ แล้วก็ตาม
-- ต้นทุนจม (Sunk cost) หมายถึง ต้นทุนที่เกิดจากการตัดสินใจในอดีต โดยผลของการตัดสินใจดังกล่าวนั้นไม่มีผลต่อการตัดสินใจปัจจุบัน แม้บริษัทจะเปลี่ยนวิธีการผลิตใหม่ แต่ค่าใช้จ่ายไม่ได้เปลี่ยนแปลง เช่น ธุรกิจตัดสินใจจ่ายค่าเช่าตามสัญญาเช่าระยะยาว ที่ทำไว้ตั้งแต่ในอดีต เป็นต้น


จำแนกตามการปฏิบัติงาน
ต้นทุนการผลิต คือ ต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตสินค้าของธุรกิจ และโดยปกติก็จะเป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นในโรงงานเท่านั้น (ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในสำนักงานไม่ถือเป็นต้นทุนผลิต) โดยประกอบไปด้วย ส่วนสำคัญ 3 ส่วนด้วยกัน คือ วัตถุดิบทางตรง ค่าแรงงานทางตรงและค่าใช้จ่ายในการผลิต
ต้นทุนที่ไม่เกี่ยวกับการผลิต เป็นต้นทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้า แต่เป็นต้นทุนที่ช่วยให้ธุรกิจมียอดขายเพิ่มขึ้นได้ รวมทั้งส่วนของสำนักงาน สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ต้นทุนส่วนใหญ่ก็จะเป็นต้นทุนที่เกดขึ้นในส่วนงานของสำนักงาน ไม่ใช่โรงงาน เช่น ค่าใช้จ่ายในการขาย (ค่านายหน้า ค่าโฆษณาและค่าใช้ จ่ายแผนกขาย เป็นต้น) ค่าใช้จ่ายในการบริหารงานต่างๆ (เงินเดือนสำนักงาน ค่าสาธารณูปโภคสำนักงาน ภาษีเงินได้) เป็นต้น

จำแนกตามพฤติกรรมของต้นทุน
ต้นทุนคงที่ เป็นต้นทุนที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามระดับของกิจกรรม คือ ไม่ว่ากิจกรรมจะเพิ่ม ลด หรือเท่าเดิม ต้นทุนดังกล่าวก็ยังมีจำนวนเท่าเดิม เช่น รายจ่ายพวกเงินเดือน ค่าเช่า หรือค่าเบี้ยประกันภัย เป็นต้น
ต้นทุนผันแปร เป็นต้นทุนที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางเดียวกันตามระดับของกิจกรรมที่เกิดขึ้น คือ ต้นทุนจะเพิ่มเมื่อระดับกิจกรรมเพิ่มขึ้น ต้นทุนลดลงเมื่อระดับกิจกรรมลดลง และต้นทุนจะไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อระดับกิจกรรมคงที่ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจน เช่น ถ้าเราผลิตสินค้ามาก ก็ต้องใช้วัตถุดิบในการผลิตสินค้ามากเช่นกัน หรือถ้าหยุดการผลิตเพราะโดนน้ำท่วม ธุรกิจก็ไม่จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบในการผลิต ต้นทุนก็ไม่เกิด เป็นต้น
ต้นทุนผสม เป็นต้นทุนที่มีลักษณะผสมผสานกันระหว่างต้นทุนคงที่และต้นทุนผันแปร โดยต้นทุนประเภทนี้ไม่เพิ่มหรือลดในสัดส่วนเดียวกันกับระดับกิจกรรม และถึงแม้ไม่มีระดับกิจกรรมเกิดขึ้นก็ยังมีต้นทุนที่ต้องจ่ายอยู่เช่นกัน ด้วยสาเหตุจากต้นทุนคงที่ ที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามระดับกิจกรรมที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ค่าโทรศัพท์บ้าน (หมายเลข 02) มีองค์ประกอบของค่าใช้จ่ายคือ
- ค่าเช่าคู่สาย จ่ายเป็นรายเดือนเดือนละ 100 บาท / ต้องจ่ายทุกเดือนถึงจะไม่มีการโทรออก / ต้นทุนคงที่
- ค่าใช้โทรศัพท์ คิดเป็นอัตราตามจำนวนหรือเวลาที่ใช้งาน / โทรมากจ่ายมาก/โทรน้อยจ่ายน้อย / ต้นทุนผันแปร