SMEs วิถีเถ้าแก่ อยากเป็นเถ้าแก่อ่านดูหน่อยนะ

Nanosoft Article : บทความทางธุรกิจ

อยากเป็นเถ้าแก่ไหมครับ . . . ? อันที่จริงผมไม่น่าถาม ใครๆ ก็คงอยากเป็นกันทั้งนั้น (รวมถึงตัวผมด้วย) เพราะพอพูดถึงคำว่า “เถ้าแก่” ทีไร เป็นต้องนึกถึงภาพผู้ประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจ (พูดให้เข้าใจง่ายคือ “รวย” ) มีลูกน้องมากมาย ใช้รถหรูให้ชาวบ้านอิจฉา

แต่สิ่งที่ปรากฎต่อสายตาของสังคม เป็นเพียงผลลัพธ์ครับ เพราะกว่าจะมาเป็นแบบที่เห็น ๆ กันทุกคนต้องฝ่าฟันความยากลำบากแบบไม่ธรรมดากันมาแล้ว ทั้งนั้น เห็นใครๆ ประสบความรุ่งโรจน์แบบนั้นแล้ว คุณนึกอยากลองสู้ดูซักตั้งไหมครับ . . . ?

คุณปรีชา ส่งวัฒนา เจ้าของบริษัทฟลายนาว กล่าวไว้ว่า “ไม่มีใครห้ามคุณรวยได้ นอกจากตัวคุณเอง จริง ๆ แล้วเงินทองมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ขึ้นอยู่กับว่า คุณมีสายตาแหลมคมพอที่จะมองเห็นและมุ่งมั่นพอที่จะไขว่คว้ามันมาหรือเปล่าเท่านั้นเอง” คงจะจริงของท่านนะครับ เพราะจากกิจการฟลายนาวที่เคยเป็นธุรกิจขนาดเล็ก รุ่นบุกเบิกเมื่อ 10 ปีก่อน มีพนักงานอยู่แค่ 10 กว่าคน
กลายมาเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ มีพนักงานพันกว่าคน ส่งสินค้าจำหน่ายทั่วโลก คงเป็นเครื่องยืนยันได้ดี

สิ่งสำคัญอยู่ที่ความพยายามครับ มีคนจำนวนไม่น้อยที่อยากสร้างฐานะของตนเอง แต่มีแรงกระตุ้นของความอยากรวยไม่เพียงพอคำว่า “เถ้าแก่” ต่างจาก “เจ้าพ่อ” ตรงที่ไม่มีการรวยทางลัด ทุกคนจึงต้องผ่านการทำงานหนัก และผ่านหุบเหวของความล้มเหลวกันมาแล้วทั้งนั้น


คุณ ๆ ที่อยากเป็นเจ้าของกิจการ ลองตั้งคำถามกับตัวเองสัก 2 ข้อนะครับ

1. คุณพร้อมที่จะทำงานหนักวันละ 20 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ติดต่อกันเป็นปี ๆ หรือเปล่า
ถ้าตอบว่า พร้อม ! ยินดีด้วยครับ คุณมีคุณสมบัติขั้นพื้นฐานของผู้ที่ประสบความสำเร็จแล้ว แต่ถ้ายังไม่พร้อมจะทำขนาดนั้น บางทีคุณอาจเหมาะกับการเป็นลูกจ้างมากกว่า

2. คุณพร้อมที่จะยอมรับความเสี่ยง มากน้อยแค่ไหน การเป็นเจ้าของกิจการกับลูกจ้างแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงในเรื่องผลกระทบจากความเสี่ยง คิดง่าย ๆ คือ ถ้าเป็นลูกจ้างแล้วบริษัทเจ๊ง อย่างมากคุณก็แค่ตกงาน แต่ถ้าเป็นเถ้าแก่แล้วกิจการล้มเหลว อาจหมายถึง สูญเสียทรัพย์สินที่อุตส่าห์หามาทั้งหมด ดีไม่ดียังมีหนี้สินที่อาจจะต้องรับภาระชดใช้กันไปถึงชาติหน้า อย่างที่ลูกหนี้มืออาชีพท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า “สำหรับคนบางคน NPL (Non Performing Loan) ไม่มีอยู่จริงของแท้ต้องเป็น NLP คือ (Next Life Payment !!! )” ถ้าทำงานหนักได้และเชื่อมั่นว่าจะลุกขึ้นได้ทุกครั้งที่ล้ม โอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าครึ่งแล้วครับ

ต่อมาคือการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ที่ต้องมาจากการตระหนักถึงความต้องการของตัวเอง รู้ว่าอยากประกอบกิจการประเภทไหน มีความสามารถที่จะทำเรื่องนั้น ๆ ได้ดีกว่าคนอื่นหรือเปล่า ถนัดในเรื่องที่จะทำมากพอหรือยัง มีคนจำนวนไม่น้อยที่เริ่มต้นจากการมีเงิน แต่ไม่รู้จะทำอะไร แล้วก็ไปหยิบจับธุรกิจการประเภทไหน มีความสามารถที่จะทำเรื่องนั้นๆ ได้ดีกว่าคนอื่นหรือเปล่า ถนัดในเรื่องที่จะทำมากพอหรือยัง มีคนจำนวนไม่น้อยที่เริ่มต้นจากการมีเงิน แต่ไม่รู้จะทำอะไร แล้วก็จับหยิบธุรกิจที่ด่วนสรุปเองว่า ทำแล้วจะรวยเหมือนคนอื่นๆสุดท้ายก็จบลงด้วยประสบการณ์ที่บอกได้ว่าควรจะไปทำกิจการอะไร แต่น่าเสียดายที่ไม่มีเงินเหลือจะไปลงทุนเสียแล้ว คนอีกกลุ่มหนึ่งรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ถ้าโชดดีมีทุนพร้อมก็เริ่มต้นง่าย แต่ถ้ายังไม่มีเงินทุนก็ยังไม่ใช่เรื่องใหญ่ บอกแล้วไงครับเงินทองมีอยู่ทุกแห่ง ขอเพียงตาไม่บอดเงิน ต้องมีลู่ทางหาเงินมาลงทุนจนได้แหละครับ เดี๋ยวนี้สถาบันการเงินต่าง ๆ หันมาให้ความสนใจที่จะปล่อยกู้เงินเพื่อ สนับสนุนธุรกิจขนาดย่อมกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงเทพฯ และบริษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม แหล่งเงินทุนเหล่านี้ พอจะช่วยคลายปัญหาได้


พวกที่น่าสงสารที่สุดก็คือ คนที่เงินไม่มี และยังไม่รู้จะทำอะไรสิ่งเดียวที่พอจะบอกได้ชัด ๆ ก็คือ “ความอยากเป็นเถ้าแก่” คำแนะนำของผมคือ คุณต้องค้นตัวเองให้พบเสียก่อนว่าอยากทำอะไร ถ้าคิดคนเดียวแล้วไม่มั่นใจ หาคำปรึกษาได้จากศูนย์ใจถึงใจ กระทรวงแรงงาน หรือกรมส่งอุตสาหกรรม หรืออีกแห่งหนึ่งก็คือ สถาบันพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและย่อม ที่มหาวิทลัยธรรมศาสตร์ คุณอาจจะได้พบคำตอบที่ต้องการ ส่วนเรื่องเงินก็ลองย้อนกลับไปดูที่ผมเพิ่งบอกมาเมื่อสักครู่

ส่วนพวกที่คิดเท่าไหร่ก็คิดไม่ออกว่าตัวเองถนัดอะไร อยากทำอะไร แต่ยังหลับหูหลับตาทำธุรกิจสักอย่างต่อไป คราวนี้ต้องอาศัยแรงฟลุ๊คแล้วล่ะครับ ผมแนะนำให้ดำเนินกิจการต่อไป และซื้อล๊อตเตอรี่ หรือสลากออมสินประกอบไปด้วย โอกาสรวยจากวิธีหลังอาจพอมีบ้าง

เอาล่ะครับ พอตัดสินใจได้แล้วว่าจะทำอะไร สิ่งที่ต้องทำเป็นขั้นตอนต่อไปคือ การศึกษาให้ลึกซึ้ง อยากเปิดร้านก๋วยเตี๋ยว ต้องรู้ว่าเขาทำกันอย่างไร เขาซื้อวัตถุดิบจากไหน เคล็ดลับในการปรุงให้อร่อยกว่าเจ้าอื่นคืออะไร และอีกร้อยแปดที่เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวต้องรู้ ข้อมูลแบบนี้อาจต้องหาได้จากการสังเกต หรือการเอาตัวเองเข้าไปสัมผัส แบบที่ญี่ปุ่นเรียกว่า Actual Rescarch หรือเป็นภาษาไทยง่าย ๆ ว่า “ครูพักลักจำ” ลองคุยเจ้าของร้านดู ขอสมัครเป็นลูกมือ แล้วเข้าไปเรียนรู้ คือการเข้ารับการอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ สำหรับผู้ประกอบการตามประเภทธุรกิจที่คุณสนใจ เช่น การทำขนมไทย ขนมอบ จัดดอกไม้ ช่างซ่อมรถ ซึ่งก็มีตั้งแต่ฟรีไปจนถึงเสียเงิน กระทรวงแรงงาน กรุงเทพมหานคร ก็มีจัดอบรมอยู่เรื่อย สอบถามรายละเอียดแล้วลงทะเบียนเองตามอัธยาศัยได้เลยครับ

สุดท้ายคือการมองหาโอกาสและทัศนคติเชิงบวกต่อการทำธุรกิจ อย่าเอาแต่กลัวอุปสรรค เพราะในทุกๆ ปัญหาย่อมมีโอกาสอยู่เสมอ ยังจำคอมฟอร์ต 100 ที่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในสมัยหนึ่งได้ไหมครับ นี่เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการเปลี่ยนอุปสรรคเป็นโอกาส

หลายๆ คนเป็นกังวลว่าอยากประกอบกิจการสักอย่างหนึ่งแต่กลัวไปแข่งขันกับเจ้าเก่าที่เริ่มทำมาก่อนไม่ได้ โดยเฉพาะคนที่มีหนี้สินติดตัวมาตั้งแต่ยุค ฟองสบู่แตก ต้องมานั่งกุมขมับกับหนี้สินที่กู้มาตั้งแต่ช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟู แค่คิดจะหาวิธีใช้หนี้ก็แทบไม่มีเวลาไปริเริ่มทำอะไรแล้วครับ คุณ ๆ หลายคนยังดีกว่ามากที่อย่างน้อย ก็เริ่มจากแค่ศูนย์ไม่ถึงกับติดลบ ยังมีแรงคิดแรงทำอะไรอีกเยอะ ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ เริ่ม อดทนและมีสติเสมอนะครับ