ร้านค้าปลีกตั้งแต่โชว์ห่วยแบบดั้งเดิมไปจนถึงแบบคอนวีเนี่ยนสโตร์ที่มีอยู่ทุกทั่วหัวถนน หรืออย่างน้อยก็เผชิญ กับความเสี่ยงต่อปรากฎการณ์เงินขาด ของหาย แต่จับมือใครดมไม่ได้กันมาแล้วทั้งนั้น ตัวต้นเหตุก็หนีไม่พ้นลูกจ้างกับลูกค้า ซึ่งเป็นบุคคล 2 ประเภทที่ผมตอกย้ำหนักหนาว่า เป็นผู้มีพระคุณต่อกิจการของเราในฐานะหุ้นส่วนของแรงงานและผู้อุปถัมถ์ทางการเงินไม่มีลูกจ้างก็อยู่ไม่ได้ ไม่มีลูกค้าก็ล่มจม ความดีของท่านทั้งหลายมีล้นเหลือเกิน จะกล่าวได้ทั้งหมดครับ แต่ก็เป็นธรรมดาของทุกระบบในสังคมที่มีทั้งคนดี และคนไม่ดี ปะปนกัน ถ้าไม่อยากให้ลูกจ้างที่คิดไม่ซื่อลอยนวลก็ต้องรู้เท่าทันกันนิดหนึ่ง พฤติกรรมที่พบได้บ่อยมีดังนี้ครับ
1. ขายแบบไม่กดเครื่อง มักพบในกรณีที่ลูกจ้างไม่สนใจใบเสร็จรับเงิน พอไม่กด เครื่องก็ไม่มีการทำรายการ เงินที่ขายของได้ก็ถูกมุบมิบไปตามระเบียบ ทางป้องกันแก้ไขที่พอใช้ได้คือ การติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิดครับ ถ้าเห็นพฤติกรรมที่น่าสงสัย ภาพเหตุการณ์ที่บันทึกไว้และหลักฐานจากเครื่องคิดเงินจะช่วยได้มากในการตรวจสอบ
2. การสร้างส่วนลดเทียม พบมากในร้านขายเสื้อผ้า ร้านขายหนังสือ ที่จัดรายการประเภทคูปองส่วนลดจากบัตรสมาชิก พนักงานหัวใสจับเอาคูปองที่ตัวเอง เก็บไว้ หรือหมายเลขบัตรสมาชิกของลูกค้ารายอื่นมาสวมแล้วเก็บเงินจากลูกค้าในราคาเต็ม ต่อจากนั้นก็แฮ็บ . . . เงินส่วนที่เกินเข้ากระเป๋าไป ทำให้บางร้านใช้วิธีขอชื่อที่อยู่ ลูกค้าแล้วบันทึกไว้ในแจ้งราคาส่วนลด เสียเวลามากขึ้นแต่ก็ต้องยอมครับ ที่ทันสมัยหน่อยก็ใช้บัตรสมาชิกเป็นแถบแม่เหล็ก ทำให้ควบคุมเป็นไปได้อย่างรัดกุมขึ้น
3. การขโมยสินค้าออกนอกร้านโดยวิธีต่างๆ เช่นใส่ไว้ถุงขยะแล้วหิ้วกลับบ้านหลังเลิกงาน บางทีก็หยิบสินค้าใส่กระเป๋าเดินออกนอกร้านไปดื้อ ๆ ร้านค้าปลีกหลายแห่งจึงออกแบบยูนิฟอร์มพนักงานไม่ให้มีกระเป๋า ห้างสรรพสินค้าก็จะมีระบบตรวจค้นตัวพนักงานก่อนออกจากห้าง หรือให้พนักงานเข้าออกพื้นที่การขาย ตามเวลาที่กำหนด พนักงานขายสินค้าบางประเภท เช่น เครื่องแต่งกายก็จะหมดโอกาสแอบบใส่เสื้อผ้าที่ตัวเองขายไว้ด้านในจนถึงเวลาเลิกงาน
4.
แอบสับเปลี่ยนสินค้าหรือพ่วงสินค้าบางอย่างใส่หีบห่อที่จะจัดส่งให้ลูกค้า โดยมากจะเกิดจากการวมหัวกันระหว่างพนักงานขายกับพนักงานส่งสินค้า แบบนี้ต้องตรวขเช็คให้ดีหน่อยครับ ดูให้แน่ใจว่าลังน้ำปลาที่ลูกน้องแบกไปส่งให้ลูกค้าต้องมีแต่น้ำปลา ไม่ใช่แบล็ค เลเบล !!! ส่วนลูกค้า (ที่ร้าย ๆ ) ก็ใช่เล่นเหมือนกันครับ วิธีโกงที่พบบ่อยก็มีตั้งแต่การสับเปลี่ยนป้ายราคาสินค้า ซึ่งก็ไม่ได้ทุ่นเงินไปเท่าไหร่หรอกครับ เพราะถ้ามีส่วนต่างของราคามาก ๆ จะทำให้เป็นที่ข้อสงสัยของพนักงานได้ง่าย ยิ่งตอนนี้ใช้ระบบาร์โค้ด จะสับป้ายไปก็เปล่าประโยชน์ ลูกค้าที่ว่าจึงมักหันมาเปลี่ยนสินค้า หรือเรียกว่าสินค้าสอดไส้แทน กรณีนี้พบได้มากเหมือนกัน เพราะพนักงานอาจคิดไม่ถึง ว่าในกล่องยาสีฟันจะมีเครื่องสำอางอยู่แทนที่ วิธีพื้นฐานที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่นักฉกฉวยตามร้านค้าปลีก คือการแอบซ่อนสินค้ามากับตัว เสื้อตัวโต ๆ กระโปรงยาว ๆ เป็นเครื่องมือสำคัญของลูกค้าโจรประเภทนี้ ทางป้องกันที่ดีคือโทรทัศน์วงจรปิดอีกแล้วครับ(ผมไม่มีเอี่ยวกับธุรกิจขาย T.V. วงจรปิดนะครับ เดี๋ยวจะหาว่าผมเชียร์ออกหน้าออกตา) ที่ถูกสตางค์ลงมาหน่อย คือการติดกระจกในมุมอับและฝึกให้พนักงานรู้จักการสังเกตความเป็นไปภายในร้าน
สำหรับ 3 อันดับสินค้าที่หายบ่อยได้แก่ เหล้าฝรั่ง รังนกหรือซุปไก่สกัด และโลชั่นเครื่องสำอางราคาแพง ของพวกนี้ขนาดใหญ่ไม่โต ราคาต่อหน่วยสูงแถมขายต่อได้ไม่ยาก ระวังกันเป็นพิเศษก็ดีนะครับ บางร้านจะเก็บสินค้าบางอย่างไว้ในตู้กระจก เวลาลูกค้าอยากได้ค่อยเรียกพนักงานขาย
แต่ไม่ว่าเราจะหาวิธีป้องกันรอยรั่วอย่างไรคนเล่นไม่ซื่อก็ยังมีวิธีการใหม่ ๆ อยู่เสมอ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องใจ ถ้าสร้างความรู้สึกผูกพัน เป็นส่วนหนึ่งของกิจการให้เกิดขึ้นกับลูกน้องได้แล้วนอกจากตัวเขาจะไม่ทุจริต ยังจะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยสอดส่องป้องกันการเอาเปรียบคนอื่น ๆ ด้วย ถ้าสร้างสำนึก แบบนี้ขึ้นมาได้ก็ไม่ต้องแก้ปัญหาที่ปลายเหตุกันมากนักสำหรับเถ้าแก่ที่มองว่าลูกน้องเป็นเพียงแรงงานกินเงินเดือน ถ้าปรับทัศนคติสักหน่อยอาจทำให้ความหนักใจลดลงได้บ้างนะครับ
** คัดลอกบางส่วนมาจากหนังสือ " Small but work " โดย รศ.วิทวัส รุ่งเรืองผล ISBN 974-8254-93-3