มีผู้กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันมีปัญหามากมายหลายด้าน ยิ่งเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ ที่เรียกกันจนชินว่า SMEs ด้วยแล้ว จะยิ่งประสบความยากลำบากมากยิ่งขึ้น แต่ผู้เขียนมักจะคิดเสมอว่า ในทุกสิ่งจะมีทั้งโอกาส และ อุปสรรคในสิ่งนั้นเสมอ เพียงแต่ว่า เราจะสามารถมองเห็นว่า อะไรคือ โอกาส , อะไร คือ อุปสรรค และนำสิ่งที่เป็นโอกาสมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้หรือไม่ ดังนั้น ผู้เขียนจะขออนุญาตสรุปปัญหาในการดำเนินธุรกิจ SMEs เพื่อให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณา ดังนี้
1.อำนาจการเจรจาต่อรอง (Bargaining power) จะพบว่า SMEs มีอำนาจในการเจรจาต่อรองในด้านต่างๆน้อยมาก ไม่ว่า ด้านการจัดซื้อ เพราะว่า ซื้อจำนวนไม่มาก เนื่องจากมีกำลังการผลิตไม่มาก ทำให้ ต้นทุนการผลิตสูง ซึ่งเป็นผลมาจาก ราคาวัตถุดิบสูง หรือ ไม่ได้เครดิตจากการจัดซื้อ
2. การขยายตลาดในการจำหน่ายสินค้า (Market expanding) เนื่องจากการทำการตลาด จะต้องประกอบด้วยขั้นตอน วิธีการ และปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ซึ่งขึ้นกับชนิดของสินค้าแต่ละประเภท รวมถึงการใช้เงินทุนในการทำการตลาดด้วย แต่ผู้ประกอบการ SMEs จะมีองค์ประกอบในด้านการตลาดน้อย ไม่ว่าจะเป็นด้านกำลังคน หรือ กำลังเงิน หรือ กำลังสมอง
3.เงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) เป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วว่า ธุรกิจ SMEs เป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบการมีเงินทุนจำกัด
4.ขาดระบบการบริหารจัดการ (No management system) ธุรกิจ SMEs ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการบริหารแบบทำไปแก้ปัญหาไป ไม่ค่อยมีระบบ เช่น บุคลากร 1 คนต้องทำงานในหลายๆหน้าที่ หรือ การจัดการที่ขึ้นอยู่กับบุคคลเพียงคนเดียว ไม่มีบุคคลที่จะสามารถตัดสินใจแทนกันได้ หากเกิดปัญหาขึ้นกับบุคคลนั้น ก็จะส่งผลต่อธุรกิจ ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
ท่านผู้อ่านจะเห็นว่า ที่กล่าวมานั้น เป็นปัญหาของการดำเนินธุรกิจ SMEs แต่จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ทุกสิ่งจะมีทั้งโอกาสและอุปสรรคในตัวเอง หรือ อีกนัยหนึ่งคือ มีทั้งข้อได้เปรียบและข้อเสียบเปรียบในตัวเองนั่นเอง ดังนั้น ลองมาพิจารณาถึงข้อได้เปรียบและข้อเสียเปรียบของ ธุรกิจ SMEs ซึ่งจะนำไปสู่การที่จะนำเอา สิ่งที่เป็นประโยชน์มาใช้ในการดำเนินธุรกิจต่อไป
ข้อได้เปรียบ (Advantage)
1.มีความคล่องตัว จะพบว่า SMEs ของไทยมีการใช้บุคลากรน้อย แต่ละคนสามารถทำงานได้หลายหน้าที่ในบางธุรกิจที่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก อาจมีเพียงคนเดียวทำทุกหน้าที่ ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นข้อได้เปรียบสำหรับธุรกิจ เพราะจะมีความคล่องตัวสูง มีการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว และตรงกับรูปแบบองค์กรสมัยใหม่ ที่หลายองค์กร พยายามปรับเปลี่ยนให้เป็นแบบแนวราบ ( Flat Organization ) เพื่อเป้าหมาย คือ ความรวดเร็ว ความคล่องตัวในการบริหารจัดการนั่นเอง
2.ชำนาญด้านการผลิต จะพบว่า ธุรกิจ SMEs ส่วนใหญ่จะมีความชำนาญด้านการผลิต รู้จักขั้นตอนในการผลิตทุกขั้นตอน ซึ่งจะเป็นข้อได้เปรียบ ของธุรกิจ ที่ทำให้รู้ถึงจุดรั่วไหลของการผลิต ควบคุมการผลิตได้เป็นอย่างดี ทำให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพตามต้องการ
3.มีความสามารถเฉพาะตน โดยผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่จะอาศัยความสามารถเฉพาะตน หรือ ประสบการณ์ที่ผ่านมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ ดำเนินกิจการ จึงทำให้เกิดความคล่องตัว ความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจสูง
ข้อเสียเปรียบ (Disadvantage)
1.ขาดการจัดการด้านทรัพยากรบุคคล (Human Resource Management ) เพราะบุคลากรส่วนใหญ่ของ SMEs จะทำหลายหน้าที่ และหากจะรับสมัครบุคลากรเพิ่ม ก็จะไม่ค่อยมีใครมาสมัคร เนื่องจากผู้สมัครส่วนใหญ่ จะเลือกสมัครในองค์กรขนาดใหญ่ ทำให้โอกาสเลือกบุคคลที่ดีมีน้อย ดังนั้น การจัดการด้านทรัพยากรบุคคล จึงเป็นได้ยาก
2.ขาดกลยุทธ์ทางการตลาด (Marketing Strategy ) ส่วนใหญ่ ธุรกิจ SMEs จะเป็นการขายในทำเล หรือ แหล่งตลาดที่ใกล้แหล่งผลิต ไม่มีการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด ยิ่งในตลาดต่างประเทศด้วยแล้ว ยิ่งไม่มีความชำนาญ ไม่รู้เงื่อนไขการเจรจาต่อรอง ไม่รู้วิธีการซื้อขายระหว่างประเทศ ไม่มีความรู้เรื่องความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น
3.ขาดการวางแผนด้านการผลิต (Production Planning ) ส่วนมากจะเป็นการผลิตที่ซ้ำๆ เช่น ถ้าธุรกิจใด มียอดการขายที่สูง จะมีการผลิต ลอกเลียนแบบเกิดขึ้นอีกจำนวนมาก ทั้งนี้เป็นผลมาจาก ธุรกิจ SMEs ส่วนใหญ่ไม่มีการใช้นวัตกรรม มีรูปแบบ หรือ ขั้นตอนการผลิตที่ไม่ซับซ้อน ซึ่งเมื่อมีการผลิตออกมา จำนวนมาก ก็จะทำให้สินค้าที่จำหน่าย มีราคาที่ลดลง เพราะเป็นไปตามหลักกลไกทางการตลาด หรือ หลักเศรษฐศาสตร์ ที่ว่า เมื่ออุปทาน(Supply) เพิ่มขึ้น ในขณะที่ อุปสงค์ (Demand) คงเดิม ทำให้สินค้าล้นตลาด เกิดการแย่งกันขาย มีการตัดราคาขายลง เพื่่อทำให้ขายสินค้าได้ นั่นเอง
4.ขาดการพัฒนาด้านองค์ความรู้ ( No Training System ) ในที่นี้ขอแยกพิจารณา เป็น 2 กรณี คือ
4.1 ด้านการผลิต ธุรกิจ SMEs จะขาดเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตัวผลิตภัณฑ์ หรือ บรรจุภัณฑ์ ขบวนการผลิตยังคง เป็นรูปแบบเดิมๆ ที่ไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อนใดๆ มีการใช้นวัตกรรมน้อยมาก
4.2 ด้านบุคลากร ส่วนใหญ่จะขาดประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการ และมักชอบลอกเลียนแบบวิธีการของชาวต่างชาติ ซึ่งบางครั้งอาจจะ ไม่เหมาะสมกับตลาดในประเทศ หรือ สภาพสังคมไทย หรือ มีการนำมาใช้ไม่เต็มขบวนการที่ควรจะเป็น เรียกว่า นำมาใช้แบบครึ่งๆกลางๆ นั่นเอง
5.มีทุนจำกัด (Capital ) จากคำจำกัดความของคำว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs นั้น และมีการแบ่งขนาด โดยใช้ทุนจดทะเบียน และ จำนวนพนักงานในองค์กร ดังนั้น ทุนจดทะเบียนของธุรกิจ SMEs จึงมีจำกัด ในขณะที่โลกของการดำเนินธุรกิจปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และการเปลี่ยนแปลง แต่ละครั้ง บางครั้งต้องอาศัยเงินทุนไม่มากก็น้อย ทำให้ธุรกิจ SMEs ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ทันกับกระแสโลกาภิวัฒน์
เมื่อทราบข้อได้เปรียบและข้อเสียบเปรียบของธูรกิจ SMEs ลอง มองแง่บวก ในการเปลี่ยน ข้อเสียเปรียบ ให้เป็น ข้อได้เปรียบ หรือ เปลี่ยน อุปสรรค ให้เป็น โอกาส นั่นเอง
ทท่านผู้อ่านลองพิจารณาในรายละเอียดแต่ละหัวข้อ ดังนี้
ด้านการตลาด
จากการที่ปัจจุบัน SMEs มีตลาดในการจำหน่ายสินค้าไม่กว้าง จำหน่ายในวงจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านตลาดต่างประเทศจะไม่มีความชำนาญ ไม่รู้วิธีการติดต่อ ไม่รู้วิธีการเจรจาต่อรอง หรือแม้กระทั่งระบบการจัดจำหน่าย แต่หากจะพิจารณาเป็นข้อดี คือ มุ่งจำหน่ายในตลาดเฉพาะเจาะจง (Niche Market ) โดยทำการศึกษาเฉพาะตลาดเป้าหมาย ซึ่งเป็นตลาดที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ เหมาะสมกับกำลังการผลิต ทำให้สามารถพัฒนาสินค้าได้ตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งส่งผลต่อ ราคาขายที่สามารถขายได้ในราคาที่สูงกว่า การขายในตลาดทั่วไป
ด้านการผลิต
ปรากฎว่า ปัจจุบัน SMEs จะมีการผลิตที่ซ้ำๆ กันมาก เป็นสินค้าที่เหมือนกัน ทำให้ต้องแข่งขันด้านการขายอย่างมาก และภาพที่เห็นได้ชัดในปัจจุบัน คือ การที่ราคาข้าวสูงขึ้นอย่างมากในปีนี้ ทำให้เกษตรกรบางส่วนมุ่งปลูกข้าวเพิ่มขึ้นพร้อมๆ กัน ยิ่งในบางแห่งถึงกับโค่นต้นมะม่วง เพื่อการปลูกข้าว สิ่งที่จะตามมาในอนาคตก็คือ ปริมาณข้าวจะสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก อาจเกิดปัญหา Over Supply ตามมาได้ ซึ่งส่งผลให้ราคาข้าวลดลง หรือ ที่ผ่านมาจะพบว่า สินค้าสมุนไพรได้รับความนิยม ก็เร่งทำการผลิต โดยที่ผู้ผลิตไม่ได้สร้างความแตกต่างในผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้ผู้ผลิตบางรายไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ หรือ จำหน่ายได้ก็น้อย ไม่คุ้มกับการลงทุน ดังนั้น สามารถบริหารด้านการผลิตให้เป็นรูปแบบ Cluster โดยการรวมกลุ่มผู้ผลิต แล้วจัดสรรผู้ผลิตให้ทำการผลิตสินค้า ตั้งแต่สินค้าต้นน้ำ ไปจนถึง สินค้าปลายน้ำ เพื่อให้ได้สินค้า ปลายน้ำ ในปริมาณที่เหมาะสมกับตลาด ทำให้เกิดภาวะสินค้าล้นตลาด ( Over Supply ) ขึ้น แต่ข้อสำคัญของการรวมกลุ่ม Cluster นั้น ปัจจุบันสามารถทำใด้ในบาง อุตสาหกรรมเท่านั้น เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ และอุตสาหกรรมต่อไปที่คาดว่าจะทำได้คือ คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะมีผู้ผลิตที่อยู่ในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นจำนวนมาก และขนาดของผู้ผลิตส่วนใหญ่จะเป็น SMEs
อนึ่ง การรวมกลุ่ม Cluster ให้ครบวงจรได้นั้น จะต้องอาศัยการร่วมมือจากหลายหน่วยงาน อาทิเช่น หน่วยงานภาครัฐ (ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐ เริ่มให้ความสำคัญกับ Cluster แล้ว) , สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย , สมาคม , องค์กรต่างๆ แต่ในเบื้องต้น ผู้ผลิตเองสามารถรวมตัวเป็นกลุ่มย่อยได้ และจัดสรรในกลุ่มย่อย กันเองได้ โดยแยกเป็น ระดับตำบล ระดับจังหวัด ระดับประเทศ
ระดับตำบล เช่น สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เป็นการรวมกลุ่มกันเองในตำบลที่ผลิตสินค้า แล้วจัดสรรผู้ผลิตตั้งแต่สินค้าต้นน้ำ จนถึง สินค้าปลายน้ำ
ระดับจังหวัด อาจต้องอาศัยอุตสาหกรรมจังหวัด เกษตรจังหวัดเข้าช่วย หรือ เป็นผู้ประสานงาน ในการรวมกลุ่ม และ การจัดสรรประเภทผู้ผลิต
รระดับประเทศ ปัจจุบันมีการรวมกลุ่มเป็น สมาคมอุตสาหกรรมแต่ละประเภทอยู่แล้ว และอาศัยการความช่วยเหลือจากภาครัฐ ในการสนับสนุนให้การรวมกลุ่ม Cluster ให้ประสบผลสำเร็จต่อไป
ด้านการเงิน
ส่วนใหญ่ของผู้ประกอบการ SMEs จะมีทุนในการดำเนินธุรกิจค่อนข้างจำกัด และเข้าถึงแหล่งเงินทุนค่อนข้างยาก ซึ่งข้อเสียเปรียบด้านนี้ จำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องอาศัยหลักการจัดการ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตามภาครัฐก็เห็นถึงปัญหาด้านนี้ จึงได้ให้ความช่วยเหลือแก่ SMEs ในหลายๆ ด้าน ทั้งนโยบายด้านการเงิน การคลัง รวมถึงด้านองค์ความรู้ในการบริหารจัดการด้วย ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEs แต่ถ้าหากจะพิจารณาในแง่บวกของการมีทุนอันจำกัด ก็สามารถกล่าวได้ว่า ทำให้ผู้ประกอบการมีความรอบคอบในการดำเนินธุรกิจ โดยใช้นโยบาย ขยายแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ว่า พอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน นั่นเอง
ด้านการพัฒนาองค์ความรู้
เเนื่องจากสินค้าของ SMEs ส่วนใหญ่ จะไม่ค่อยมีการใช้นวัตกรรมมากนัก ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมด้านการผลิต ด้านการจัดการ ทำให้สินค้ามีการ ลอกเลียนแบบได้ง่าย มีระบบการบริหารจัดการองค์กรที่เหมือนๆกัน แต่ถ้าพิจารณาในแง่บวก ก็จะได้ว่า SMEs สามารถนำองค์ความรู้ที่มีผู้คิดค้นแล้ว ไม่จำเป็นต้องคิดค้นใหม่ เพียงแต่นำมาดัดแปลงให้เหมาะสมกับ ธุรกิจที่ดำเนินอยู่ เป็นการประหยัดทั้ง เวลา และ เงินทุนของกิจการด้วย
ด้านการจัดการ
การมีบุคลากรน้อย โดยบุคลากรแต่ละคนมีความสามารถเฉพาะตนที่ดี จัดเป็นข้อดี เป็นข้อได้เปรียบของธุรกิจ คือ
1. ง่ายต่อการบริหารจัดการ
2. มีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ
3. ต้นทุนในการดำเนินงานต่ำ ทั้งด้านเวลา ด้านการเงิน เช่น เงินเดือน ค่าล่วงเวลา ค่าเบี้ยเลี้ยง เป็นต้น
4. โอกาสผิดพลาดเรื่องการสื่อสารจะน้อย
5. ปัญหาต่างๆจะน้อย ดังที่ว่า มากคนมากปัญหา
จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นว่า ในการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะประเภทใด ขนาดใด
จะมีทั้งโอกาส และ อุปสรรค ในตัวเองทั้งนั้น
เพียงแต่ว่าผู้ประกอบการจะดึงเอาโอกาสที่มีอยู่มาใช้ให้เป็นประโยชน์มากน้อยเพียงใด
และการที่จะมองเห็นโอกาสได้ นั่นหมายความว่า จะต้องมีมุมมองในแง่บวก หรือ Positive
Thinking โดยบุคคลที่จะมี Positive Thinking ได้ จะต้องมีการฝึกฝนตนเองมาก่อน ซึ่งผู้เขียนเองก็มีความเชื่อว่า ผู้ที่ดำเนินธุรกิจ หรือ คิดจะมีธุรกิจเป็นของตนเอง จะต้องมีมุมมองในแง่บวกอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับแต่ละลักษณะของแต่ละบุคคล ประสบการณ์ของแต่ละบุคคล และ การฝึกฝนของแต่ละบุคคล ซึ่งบุคคลใดที่มีน้อย หรือ ไม่ค่อยมี ก็ไม่ยากเลยที่จะเริ่มฝึกตั้งแต่บัดนี้ โดยการมองในแง่บวก แม้ว่าไม่ใช้ในการดำเนินธุรกิจ ก็จะทำให้ผู้นั้นสามารถ ดำรงตนในโลกอันสับสนเช่นทุกวันนี้ได้อย่างมีความสุขต่อไป