ข้อควรระวังจุดเริ่มต้นแห่งความล้มเหลว

Nanosoft Article : บทความทางธุรกิจ

ในการทำธุรกิจ มีบ้างที่ว่าประสบความสำเร็จหรือบางครั้งล้มเหลวเสียตั้งแต่เริ่มต้น ทำธุรกิจทั้งลงทุน ลงแรง แต่ยังไม่มีโอกาสได้สัมผัสแม้กระทั่งบรรยากาศแห่งความสำเร็จ ก็ต้องล้มเหลวตั้งแต่กลางคัน ทั้งนี้ยังมีธุรกิจอีกประเภทหนึ่งที่น่าสนใจและจะเรียกว่าน่าสงสารก็ได้ เนื่องจากความสำเร็จดังกล่าวกลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความล้มเหลว ลองมาดูตัวอย่างที่เป็นรอยต่อสู้ความล้มเหลว เช่น

ประสบความสำเร็จแล้วแทนที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลพนักงานกลับเริ่มเอารัดเอาเปรียบพนักงาน
องค์กรประเภทนี้มักจะมองทีมงานเป็นผู้ที่ต้องพึ่งพาองค์กรโดยละเลยสัจธรรมที่ว่า ความสำเร็จทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งที่สำคัญก็เกิดมาจากทีมงาน เรียกว่ายิ่งทำองค์กรยิ่งรวยแต่ทีมงานยิ่งจนลง แสดงให้เห็นถึงธาตุแท้ที่ซ่อนเร้นโดยเอารัดเอาเปรียบพนักงาน สุดท้ายก็ไม่เหลือทีมงานที่มีคุณภาพ

ประสบความสำเร็จแล้วเปลี่ยนพันธมิตรและคู่ค้าให้กลายเป็นศัตรู
ที่มาแห่งความสำเร็จ ส่วนหนึ่งเกิดจากคู่ค้าและพันธมิตรที่ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันในช่วงแรกๆ แต่เมื่อประสบความสำเร็จก็เริ่มโลภ เริ่มเรียกร้องและเริ่มลืมตัว เริ่มเขี้ยวกับพันธมิตรและคู้ค้าเพราะต้องการส่วนต่างและผลกำไรที่มากขึ้น ผลสุดท้ายพันธมิตรและคู่ค้าก็กลายเป็นคู่แข่ง

ประสบความสำเร็จแล้วเริ่มอิจฉาริษยาและทำลายล้างคนที่เคยริเริ่มฝ่าฟังมาด้วยกัน
องค์กรประเภทนี้มันจะมีผู้นำที่ต้องการโดดเด่นอยู่เพียงผู้เดียว เมื่อขุนพลซ้ายขวาเริ่มมีบทบาท หรือเป็นที่สนใจของสื่อต่างๆ ต่อมริษยาของผู้นำเริ่มแตก และอาจรวมไปถึงกรณีเสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพลเพื่อจะได้กอบโกยทั้งความร่ำรวยและชื่อเสียงไว้กับตัวเองเพียงผู้เดียว อีกไม่นานความหายนะก็จะมาเยือน

ประสบความสำเร็จในธุรกิจที่ตนเองเชี่ยวชาญ แต่ดิ้นรนไปสู่ธุรกิจที่ตนเองไม่เชี่ยวชาญ
เห็นว่าธุรกิจใดบูม ก็ขอลงไปทำดูบ้าง โดยที่อาจจะไม่มีความชำนาญในงานที่ตนเองทำอยู่ เมื่อไม่มีความชำนาญก็ทำได้ไม่ดี ธุรกิจก็ล้มเหลวได้

ประสบความสำเร็จแล้วยกระดับไปสู่ตลาดโลกด้วยความลำพองแต่ไม่พร้อม
การมุ่งสู่ตลาดโลกถือว่าเป็นตัวแทนของประเทศที่เข้าสู่เวทีโลกที่น่าภาคภูมิใจ แต่ที่น่าเสียใจคือการกระโจนเข้าสู่ตลาดโลกด้วยความลำพอง ขาดข้อมูล ขาดการเตรียมตัวที่ดี ใช้กลยุทธ์และวิธีการที่เคยประสบความสำเร็จจากการบริหารในประเทศไปบริหารเมื่อเข้าสู่ตลาดโลก นั่นถือว่าเป็นข้อผิดพลาดอย่างร้ายแรง

สุรุ่ยสุร่ายและฟุ่มเฟือยกับการบริหารการเงินที่เละเทะ
องค์กรที่เป็นแบบนี้ในปัจจุบันมีเป็นจำนวนมาก เมื่อคิดว่าประสบความสำเร็จเริ่มมีทรัพย์สินมากขึ้น ก็เริ่มสุรุ่ยสุร่ายในการตอบสนองความต้องการส่วนตัวที่ไร้สาระ ไม่ว่าจะเป็นรถประจำตำแหน่งของผู้บริหารที่หรูหราเกินความจำเป็น งบรับรองลูกค้าที่ไม่มีที่มาที่ไป (นำงบรับรองมาใช้จ่ายส่วนตัวที่ไม่ใช่รับรองลูกค้าที่แท้จริง) เป็นต้น

ประสบความสำเร็จแล้วก็หยุดการพัฒนาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่
องค์กรประเภทนี้มักเข้าใจไปเองว่า ความสำเร็จในครั้งแรกจะการันตีความสำเร็จตลอดไปและยั่งยืน โดยลืมไปว่ากำลังอยู่บนเวทีการแข่งขันของยุคใหม่ ทั้งนี้ สินค้าและบริการ หรือที่เราคุ้นเคยว่า ผลิตภัณฑ์ นั้น มีวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะมีช่วงที่ตกต่ำ ตามกระแสของผลิตภัณฑ์อื่นๆในท้องตลาดที่มีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ

ทั้งนี้ไม่ใช่มีเพียงแค่ 7 รอยต่อเท่านั้น ที่นำไปสู่ความล้มเหลว แต่ยังมีอีกหลายรอยต่อ ให้เราได้ฉุกคิด ดังนั้นพึงคิดอยู่เสมอว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่องค์กรประสบความสำเร็จและเริ่มลำพอง รอยต่อที่จะนำท่านไปสู่ความล้มเหลวกำลังรอยู่ข้างหน้า